[รายการ SUITS ถอดสูตรความสำเร็จฉบับ CEO ของ “กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ นักวิจัยวัคซีนโควิด-19 จากพืช และประธานฝ่ายเทคโนโลยี บริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ถึงมุมมอง วิธีคิด และสูตรความสำเร็จในการจัดตั้งศูนย์ต้นแบบในการผลิตวัคซีนโดยคนไทย คิดค้นโดยคนไทย ซึ่งกำลังมุ่งหน้าในการผลิตวัคซีนโควิด-19
“อ.แป้ง -รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ” ได้ร่วมกับ“อ.บิ๊บ-ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ” ซึ่งทั้งคู่เป็นอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้สอนและทำงานวิจัยควบคู่กันไป
โดย รศ.ดร.วรัญญู ได้ทำงานวิจัยผลิตวัคซีนโดยใช้พืชเป็นแหล่งผลิตมาเกือบ 20 ปี ทว่าเมื่อพวกเขาได้สอน และเทรนนิสิตทำวิจัย พัฒนายาใหม่ๆ แต่เมื่อพวกจบออกไปกลับไม่ได้ทำงานวิจัย เนื่องจากไม่มีที่ให้ทำงาน เพราะในประเทศไทย ไม่มีอุตสาหกรรมที่พัฒนายาตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงนำไปใช้ในคน จึงได้ร่วมกันโดยใช้เงินของตัวเอง ในการก่อตั้ง “บริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด”
รศ.ดร.วรัญญู กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งบริษัท ว่าได้เห็นเด็กในสายงานเภสัชศาสตร์ ซึ่งเมื่อพวกเขาจบไปไม่มีใครได้ทำงานด้านสายพัฒนายา ขณะเดียวกันประเทศไทยมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ประชาชนยังไม่สามารถเข้าถึงยาได้
หากสามารถพัฒนาวัคซีน หรือยาใหม่ๆ ได้เองในประเทศตั้งแต่ต้นน้ำ ก็จะทำให้เด็กๆ ที่เรียนเภสัชฯ ได้ทำงานวิจัย ได้พัฒนายา และวัคซีน รวมถึงเกิดอุตสาหกรรมใหม่ในประเทศไทย ส่งผลให้มีเงินเข้าประเทศได้เยอะขึ้น คนไทยเข้าถึงยาได้มากขึ้น
- “วัคซีนใบยา” วัคซีนจากพืช ผลิตโดยนักวิจัยไทยเพื่อคนไทย
ในมุมของสตาร์ทอัพ “บริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด” ถือเป็นแซนด์บ็อกซ์เคส กลุ่มแรกๆ ของมหาวิทยาลัยที่ได้มีการจัดตั้งบริษัท และได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย ซึ่งบริษัทได้จัดตั้งขึ้นก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19
โดยระหว่างนั้น นโยบายกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ได้ให้การสนับสนุนและมีนโยบายเข้ามารองรับในการจัดตั้ง Holding Company หรือบริษัทที่ไม่มีการดำเนินการทางธุรกิจแบบทั่วไป แต่เป็นบริษัทที่นำเงินไปลงทุนในกิจการอื่น (บริษัทลูก) อีกทีหนึ่ง
รศ.ดร.วรัญญู กล่าวต่อว่าก่อตั้งบริษัท ใบยา มาตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งตอนแรกได้พยายาม Scale Up งานวิจัยในห้องแลป โดยมีการปลูกต้นไม้เพื่อผลิตโปรตีนให้ได้มากๆ ซึ่งตอนนั้นเริ่มต้นจากโปรตีนที่ใช้เป็นเครื่องสำอาง ไม่ได้ผลิตยา เพราะการพัฒนาผลิตยาต้องใช้ทุนวิจัยค่อนข้างมาก
ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงม.ค.2020 เราได้นำสิ่งที่มีอยู่ในห้องแลป ต้นไม้ที่มีอยู่ มาพัฒนาสิ่งที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 โดยเริ่มต้นผลิตโปรตีนชิ้นส่วนของไวรัส เราก็นำไปทดสอบการใช้เป็นวัคซีน และนำชิ้นส่วนมาเป็นชุดตรวจวัดแอนติบอดี้ วัดภูมิคุ้มกัน ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีใครได้รับวัคซีน การนำชุดตรวจวัดภูมิคุ้มกัน ไปวัดจะสามารถบอกได้ว่าใครได้รับเชื้อ
- “ใบยา” มีวันนี้เกิดจากการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน
ขณะเดียวกันก็เริ่มทดสอบในสัตว์ทดลอง ซึ่งจริงๆ ได้วัคซีนโปรโตไซด์ ตั้งแต่เดือน ก.พ.2020 เราทำได้เท่าๆเวลา กับนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกพัฒนาวัคซีน ได้มีการทดสอบประสิทธิภาพผลในหนู และในลิง แต่เราไม่มีพื้นที่การผลิตวัคซีนมาฉีดในมนุษย์
การผลิตยา วัคซีนที่จะฉีดในมนุษย์ต้องมีพื้นที่การผลิตควบคุมคุณภาพสูง และต้องอยู่ในพื้นที่ปิด ทางบริษัท จึงได้เริ่มดำเนินการจัดสร้างพื้นที่การผลิต ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อช่วงกลางปี 2021 ที่ผ่านมา และในช่วงเดือนก.ย. 2021 เป็นครั้งที่ได้ทำการทดสอบวัคซีนที่คิดค้นได้เองในห้องปฎิบัติการมาทดสอบในมนุษย์เฟสที่ 1 คือ ทดสอบความปลอดภัยในมนุษย์
ในแง่ของการพัฒนาวัคซีนโดยปกติแล้วต้องใช้เวลา 5-10 ปี ในการนำมาทดสอบให้ได้ แต่ด้วยอยู่ในภาวะฉุกเฉิน สถานการณ์ที่ทั่วโลก ร่วมถึงประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการในทุกส่วนเพื่อสามารถผลิตวัคซีนที่มาใช้ในมนุษย์ ป้องกันโรคระบาดใหม่อย่าง โควิด-19
“บริษัท ใบยา” ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย ช่วยระดมทุนได้รับเงินบริจาคของประชาชนทำให้ได้สร้างพื้นที่การผลิตวัคซีนที่จะนำมาใช้ทดสอบในมนุษย์ได้อย่างรวดเร็วมาก รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเอกชน รวมถึงภาครัฐ
“สิ่งที่ทำให้ ใบยามาถึงจุดนี้ เพราะมาจากการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน”รศ.ดร.วรัญญู กล่าว
- คาดผลิตวัคซีนใบยา แล้วเสร็จต้นปี 2566
ถ้าวัคซีนผ่านการทดลองในมนุษย์เฟสที่ 1 เฟสที่ 2 และเฟสที่ 3 ซึ่งเมื่อผลทดลองมีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในมนุษย์ได้ดี คาดว่าน่าจะเสร็จสิ้นปีนี้ และสามารถผลิตวัคซีนใบยาให้คนไทยได้ใช้ในช่วงต้นปี 2566
รศ.ดร.วรัญญู กล่าวด้วยว่า ธงของตัวเองที่มองไว้ ไม่ได้มองเรื่องราคาถูกหรือฟรี แต่อยากทำให้คนไทยผลิตวัคซีนได้เองก่อน เพราะก่อนหน้านี้ต่อให้เราประกาศว่าจะเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางด้านสุขภาพซึ่งต้องผลิตยาและวัคซีนได้เอง
ประเทศลงทุนกับงานวิจัยจำนวนมากและแต่ไม่ผลทำให้หลายคนมองว่านำเข้ายา วัคซีน ดีกว่า แต่เมื่อเกิดโควิด ทำให้เห็นว่า ต่อให้มีเงิน ก็ไม่สามารถได้วัคซีนก่อน ก็ต้องนั่งรออยู่ดี ดังนั้น ถ้าเราพัฒนาได้เองในประเทศ ต่อไปในอนาคตถ้าเกิดอะไรขึ้นมา เราอาจจะไม่ต้องนั่งรอวัคซีนเหมือนตอนนี้
- กว่าจะมีวันนี้ของ“ใบยา”
โครงการวิจัยยาและวัคซีนของ “รศ.ดร.วรัญญู” จะเป็นอีกโอกาสของคนไทยที่สามารถเข้าถึงยาและวัคซีนได้ทันถ่วงที และในราคาที่สามารถเข้าถึงได้ โดยตอนนี้ “ใบยา” ได้ผลิตวัคซีนโควิด-19 และแอนติบอดี้ในการยับยั้งจากใบยาสูบชนิดพิเศษได้สำเร็จ โดยใช้เทคนิคการใช้พืชเพื่อผลิตโปรตีน ใช้พื้นที่การผลิตที่อยู่ในจุฬาฯ สามารถผลิตได้ 60 ล้านโดสต่อปี และมีแผนจะขยายกำลังการผลิต 300-500 ล้านโดสต่อปี รับมือกับโรคระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และเชื้ออื่นๆ ในอนาคต
“เวลาเริ่มทำอะไรที่ไม่เคยมี จะเป็นเรื่องธรรมดาที่คนจะสงสัยว่าเป็นไปได้หรือไม่? ทำได้หรือ? สิ่งที่เราต้องทำ คือ การพิสูจน์ให้เห็น เพราะจริงๆ แล้วเรามีเป้าหมายเป็นอาจารย์ อยากสอนนิสิต อยากสร้างอยากเทรนเด็ก และทำวิจัย เราพยายามนำสิ่งที่เราทำไปให้คนอื่นทำ แต่ที่ผ่านมาพอเป็นเรื่องใหม่คนก็จะไม่เชื่อ และไม่มีใครทำ เราจึงทำเอง”รศ.ดร.วรัญญู กล่าว
แม้จะต้องทำงานในสิ่งที่ไม่มีใครรู้ แต่สิ่งที่ทำให้ “บริษัท ใบยา” มาถึงจุดนี้ได้ เพราะมีทีมงานที่เข้มแข็ง ซึ่งการพัฒนาวัคซีน เป็นงานวิจัยที่ต้องอาศัยหลายศาสตร์ร่วมกันเป็นไปไม่ได้ที่คนกลุ่มเดียว หรือคนๆ เดียวจะทำได้ ต้องหาผู้เชี่ยวชาญหลายๆด้านในประเทศ ค่อยๆเรียนรู้ และเดินไปด้วยกัน
“ความยากที่สุดของการทำใบยาคือ เราเลือกทำในสิ่งที่ไม่มีใครรู้ในประเทศไทย ดังนั้น เราต้องหาความรู้ต้องสร้างทีม และร่วมแก้ปัญหา ซึ่งการแก้ปัญหาได้เป็นเรื่องสนุก ดังนั้นต่อให้วันนี้แม้วัคซีนใบยาไม่สำเร็จ แต่สิ่งที่เรารู้ คือ เราสร้างคนในประเทศ เด็กรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงานจะมีองค์ความรู้ มีประสบการณ์ และนำความรู้ ประสบการณ์ ไปทำพัฒนายาและวัคซีน ในอนาคตเชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถผลิตยาและวัคซีนได้เองในประเทศ” รศ.ดร.วรัญญู กล่าวทิ้งท้าย
การเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ อาจจะเจอความคิดเห็นที่บอกว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าทั้งทีมไม่ได้หยุดความตั้งใจ ถ้าไม่เลิก ไม่หยุดทำ ก็จะไม่ล้มเหลว โดยธงสำคัญของ “บริษัท ใบยา ”หวังให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น สำหรับคนที่ทำงานหรือคนที่เรียนด้านวิทยาศาสตร์ ใน 10 ปีข้างหน้า เชื่อว่าจะมีบริษัทสตาร์อัพ ด้านไบโอเทค เกิดขึ้นอีกมากมาย